วันพุธที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การยื่นคำฟ้องแพ่งและการยื่นคำให้การแพ่ง ซึ่งเป็นหัวข้อที่ ๗


                เรามาเริ่ม เรื่องการยื่นคำฟ้องคดีแพ่งกันก่อน ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินคดีต่อศาล คำฟ้องแต่ละเรื่องมีประเด็นที่สำคัญแตกต่างกันไป และพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่สำคัญ ๆ ก็แตกต่างกันไปด้วยต้องพิจารณาให้ดี รวมถึงศาลที่จะยื่นฟ้องด้วยต้องฟ้องให้ถูกศาล
        ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าเขียนคำฟ้องในคดีแพ่งนี้ได้แล้ว แล้วจะฟ้องได้ทุกคดีไป คำตอบถูกแค่ครึ่งหนึ่งครับ เพราะคำฟ้องของแต่ละคดีแต่ละศาลก็มีหลักคล้าย ๆ กัน แต่คำฟ้องแพ่งนั้นจะยากสุด ยกตัวอย่างเช่น
                คำฟ้องคดีล้มละลาย ก็มีแบบพิมพ์คำฟ้องของคดีล้มละลายต่างหาก การยื่นฟ้องก็ยื่นฟ้องต่อศาลล้มละลาย
                คำฟ้องคดีศาลแรงงาน ก็มีแบบพิมพ์คำฟ้องของศาลแรงงาน การยื่นฟ้องก็ยื่นต่อศาลแรงงานตามที่ต่าง ๆ แล้วแต่เขตอำนาจ
                คำฟ้องคดีภาษีอากร ก็มีแบบพิมพ์คำฟ้องคดีภาษีอากร มีขั้นตอนก่อนที่จะยื่นฟ้องต้องทำอย่างไร และศาลที่รับฟ้องก็เป็นศาลภาษีอากร
        และก็ยังมี ศาลปกครอง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลเยาวชนและครอบครัว ซึ่งก็มีการพิจารณารับฟ้องคดีแพ่งเหมือนกัน แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของเขา ถ้าเราเขียนคำฟ้องแพ่งได้ก็สามารถเขียนคำฟ้องในศาลอื่นที่กล่าวมาได้ แต่ต้องดูหลักเกณฑ์และวิธีการฟ้องของศาลแต่ละศาลด้วย
                การฟ้องคดีแพ่งนี้เป็นการยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมทั่ว ๆ ไป เป็นคดีสามัญที่คนส่วนมากต้องเจอและมีในชีวิตประจำวัน ไม่เหมือนคดีพิเศษที่ต้องขึ้นศาลพิเศษที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
                การฟ้องคดีนี้ก็เหมือนกับเราเล่นเทนนิสเราได้เป็นฝ่ายเสิร์ฟก่อน ถ้าลูกแรกไม่ลงคอร์ดหรือเสิร์ฟติดเน็ท เราก็ได้เสิร์ฟใหม่ลูกที่สอง เปรียบได้กับทางกฎหมายถ้าเราฟ้องไปแล้วฟ้องผิดศาล ก็นำคดีไปฟ้องที่ศาลใหม่ให้ถูกต้อง หรือฟ้องไปแล้วประเด็นไม่ครบเราก็ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องได้ เมื่อเราเสิร์ฟลูกไปแล้วลูกลงและจำเลยโต้กลับมาไม่ได้ เราก็ได้แต้ม ถ้าทางกฎหมายก็ชนะคดี แต่ถ้าจำเลยโต้กลับมาได้และลงในแดนเราแล้วเรารับไม่ได้ ก็เสียแต้ม หรือทางกฎหมายก็แพ้คดี เพราะฉะนั้นแล้วลูกเสิร์ฟในกีฬาเทนนิสสำคัญเพียงใด คำฟ้องในคดีก็สำคัญเพียงนั้น
                บางครั้งการฟ้องคดีของทนายความบางคนเป็นการฟ้องในทำนองลักไก่ ลักไก่อย่างไรมาดูกัน คดีเกือบทุกคดีคู่ความรู้อยู่แก่ใจฟังจากคนโน้นคนนี้ก็บอกว่าแพ้ตั้งแต่ยังไม่ได้ฟ้องแล้วแต่ก็อยากจะชนะทำอย่างไร ก็ให้ทนายความยื่นฟ้องคู่กรณีอีกฝ่ายต่อศาลตามสัญญาว่าอีกฝ่ายเป็นฝ่ายผิดในประเด็นข้อเท็จจริงและก็เขียนฟ้องเข้าข้างตนเอง ส่วนประเด็นที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายนั้นก็จะไม่ค่อยกล้าลักไก่เพราะกลัวศาลเพราะศาลรู้อยู่แล้ว เมื่อยื่นฟ้องไปแล้วอ้างข้อเท็จจริงต่าง ๆ นานาให้ศาลคล้อยตามว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูก ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าความจริงเป็นเช่นไร สมมุติว่าจำเลยต่อสู้คดีแล้วยืนยันความเป็นจริง จำเลยก็ชนะคดี ส่วนใหญ่แล้วคนที่ต่อสู้คดีเป็นคนที่มีเงิน แต่ถ้าเมื่อไหร่จำเลยไม่ได้ยื่นคำให้การสู้คดีก็ต้องเป็นฝ่ายแพ้คดีไป เหมือนถูกชกอยู่ฝ่ายเดียว ทั้ง ๆ ที่ตัวจำเลยเป็นฝ่ายถูกก็ตาม และถ้าเป็นตาสีตาสา ชาวไร่ชาวนา คนหาเช้ากินค่ำ คนที่ยากจน จะเอาเงินที่ไหนไปจ้างทนายความมายื่นคำให้การ ก็ต้องถูกคนที่เจ้าเล่ห์มีอำนาจทางสังคมรังแกโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ผมเชื่อนะครับว่าความยุติธรรมมีในตัวนักกฎหมายทุกคนปลุกมันตื่นขึ้นมาเถอะครับมาช่วยพวกคนเหล่านั้น
                ร่ายมายาวเลยถึงไหนแล้วเนี่ย อ้อถึงการยื่นคำฟ้อง ในการยื่นคำฟ้องแพ่งมีเอกสารอะไรบ้างเรามาไล่เรียงกันดีกว่า แต่ต้องเป็นช่วงต่อไป 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น