วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การเขียนคำให้การ ซึ่งอยู่ในหัวข้อที่ ๕


               ใช้แบบพิมพ์คำให้การ (๑๑ ก.) ที่ศาลกำหนดใช้ได้ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา เขียนด้วยลายมือตัวเองก็ได้ หรือจะใช้พิมพ์ดีดก็ได้ หรือจะเป็นโปรแกรมสำเร็จรูปที่พิมพ์คำให้การลงไปในคอมพิวเตอร์แล้วแล้วสั่งปริ๊นออกมาทั้งแบบฟอร์มและคำให้การซึ่งเป็นการสะดวกและสวยงาม ง่ายต่อการแก้ไข
                การเขียนคำให้การแพ่ง ในสายตาของผมก็คือการอ่านคำฟ้องที่ทางโจทก์ส่งมาแล้วก็โต้แย้งไปตามประเด็นที่มีอยู่ในคำฟ้องของโจทก์ด้วยเหตุและผล แต่บางครั้งก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะโต้แย้งก็โต้แย้งไปลอย ๆ ไม่มีเหตุผล  ซึ่งจะมีประเด็นในการต่อสู้หรือไม่มีประเด็นในการต่อสู้เราก็จะศึกษาในตอนต่อไป
                แต่มีประเด็นหนึ่งน่าสนใจ ผัวเมียคู่หนึ่งโต้แย้งกันหรือทะเลากันนั้นเอง เมียจับได้ว่าผัวไปแอบไปมีกิ๊กไว้ที่ไหนสักแห่งหนึ่งในประเทศไทย ผัวก็ใช้หลักเหตุและผลโต้แย้งต่าง ๆ นานา เพื่อให้เมียนั้นคล้อยตาม  ฝ่ายเมียก็อ้างพยานหลักฐานที่มีอยู่ในมือ และพยานบุคคลที่เป็นประจักษ์พยานหรือเห็นเหตุการณ์นั้นเอง ฝ่ายผัวหรือสามีก็เริ่มจนมุมต่อหลักฐาน ก็คิดที่จะรับสารภาพเพราะรู้กฎหมายว่าถ้ารับสารภาพจะได้รับการลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหมือนจำเลยทั่วไปที่รับสารภาพ คดีนี้จบลงตรงที่โดนโทษสถานเบาจริง ๆ ครับ เพราะสามีคนนี้โดนริบของกลางในการกระทำผิด โดยฝ่ายเมียบอกว่าถ้าทำตัวดีเมื่อไหร่แล้วจะคืนให้ ระหว่างนี้จะขอเก็บของกลางไว้ในตู้เย็นช่องฟิตไว้ก่อน คดีนี้สอนให้รู้ว่า รับสารภาพในศาลลดโทษให้แน่นอนครับ แต่ถ้ารับสารภาพในบ้านละก็เพิ่มโทษแน่นอนครับ เป็นเรื่องขำ ขำ อย่างคิดมาก
                กลับมาที่เรื่องของเรากันต่อ ในคดีอาญานั้น การยื่นคำให้การของจำเลยง่ายกว่าคดีแพ่งคือยื่นเมื่อใดก็ได้ ยื่นกันไปจนถึงวันสืบพยานโจทก์ก็ได้ หรือจะกลับคำให้การเดิมก็ทำได้ ก่อนที่ศาลพิพากษานั้นเอง บางครั้งรับสารภาพและมีคำพิพากษาไปแล้วระหว่างอุทธรณ์กับให้การปฏิเสธว่าที่รับสารภาพไปในศาลชั้นต้นนั้นรับสารภาพเพื่อปกป้องลูก ศาลอุทธรณ์ยังส่งสำนวนคดีให้กลับมาให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่เลย เพราะศาลไม่อยากตัดสินคนบริสุทธิ์ให้ต้องติดคุกในเมื่อเขาไม่ได้กระทำความผิดนั้นเอง
                ในคดีแพ่งต้องสู้ตามประเด็นที่ให้การและมีเหตุและผลในการต่อสู้ด้วยการเขียนคำให้การในคดีแพ่งก็ยืดยาวตามไปด้วย ส่วนในคดีอาญานั้นเขียนสั้นมาก คือเขียนแค่ จำเลยขอให้การปฏิเสธตามฟ้องของโจทก์ทั้งสิ้น และขอต่อสู้คดี เพียงเท่านี้ก็มีประเด็นในการต่อสู้คดีอาญาทุกประเด็นที่โจทก์ฟ้องมาแล้ว
                ป.วิ.แพ่ง บทวิเคราะห์ศัพท์ มาตรา ๑ (๔) คำให้การ หมายความว่า “กระบวนพิจารณาใด ๆ ซึ่งคู่ความฝ่ายหนึ่งยกข้อต่อสู้เป็นข้อแก้คำฟ้องตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้ นอกจากคำแถลงการณ์”
                ป.วิ.แพ่ง มาตรา ๑๗๗ บัญญัติว่า “เมื่อได้ส่งหมายเรียกและคำฟ้องให้จำเลยแล้ว ให้จำเลยทำคำให้การเป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายในสิบห้าวัน
                ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น
                จำเลยจะฟ้องแย้งมาในคำให้การก็ได้ แต่ถ้าฟ้องแย้งนั้นเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมแล้ว ให้ศาลสั่งให้จำเลยฟ้องเป็นคดีต่างหาก
                ให้ศาลตรวจดูคำให้การนั้นแล้วสั่งให้รับไว้ หรือให้คืนไป หรือสั่งไม่รับตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๘
                บทบัญญัติแห่งมาตรานี้ ให้ใช้บังคับแก่บุคคลภายนอกที่ถูกเรียกเข้ามาเป็นผู้ร้องสอดตามมาตรา ๕๗(๓) โดยอนุโลม”

เมื่อพิจารณาจากมาตราที่กล่าวมาแยกพิจารณาได้ดังนี้
                -เมื่อจำเลยได้รับหมายเรียกและคำฟ้องหรือมีผู้อื่นรับไว้แทนโดยชอบ ให้จำเลยทำคำให้การยื่นต่อศาลภายในสิบห้าวันนับถัดจากวันที่รับหมาย หมายเรียกและสำเนาคำฟ้องนี้ต้องเป็นหมายเรียกคดีแพ่งสามัญจะเขียนอยู่ที่บนหัวของหมายเรียก ส่วนหมายเรียกอื่นมีกำหนดวันนัดยื่นคำให้การไม่เหมือนกัน ดูกำหนดระยะเวลายื่นคำให้การในหมายเรียกเป็นหลัก กรณีจำเลยไม่อยู่บ้านหรือไม่มีผู้ใดรับหมายไว้แทนโดยชอบศาลอาจปิดหมายไว้ที่ภูมิลำเนาของจำเลย ต้องยื่นคำให้ให้การภายใน ๓๐ วัน นับถัดจากวันที่ปิดหมาย การขอปิดหมายนี้โจทก์ต้องขอคัดถ่ายชื่อที่อยู่ของจำเลยทางทะเบียนราษฎร์ที่อำเภอไม่เกิน ๑ เดือน แนบกับคำร้องขอให้ปิดหมายไปด้วยถ้าอย่างนั้นศาลจะไม่ปิดหมายให้ เพราะถือว่าจำเลยมีที่อยู่แน่นอน ถ้าจำเลยไม่ยื่นคำให้การทั้งสองกรณีดังกล่าว โจทก์อาจยื่นคำร้องขอให้จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขอให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีไป
                -เมื่อจำเลยยื่นคำให้การในคดีแพ่งนี้คำให้การในคดีแพ่งค่อนข้างจะยุ่งยากคือ คำให้การจะยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน การปฏิเสธนี้ต้องมีเหตุผลแห่งการปฏิเสธนั้นด้วย ถ้าปฏิเสธลอย ๆ หรือไม่มีเหตุผลในการปฏิเสธตามฟ้องของโจทก์ จำเลยก็จะไม่มีประเด็นในการนำสืบทำให้จำเลยอาจแพ้คดีได้เลย
                -เมื่อจำเลยยื่นคำให้การและมีการฟ้องแย้งมาในนั้นด้วยแล้ว ฟ้องแย้งของจำเลยนั้นต้องเป็นเรื่องเดียวกับฟ้องของโจทก์ ถ้าฟ้องแย้งนั้นเป็นเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมของโจทก์แล้ว ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่ คือต้องเสียค่าธรรมเนียมใหม่ตามจำนวนทุนทรัพย์นั้นเอง ฟ้องแย้งต้องเสียค่าธรรมเนียมด้วยนะครับถ้าเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์
                -การขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การ จำเลยมีเหตุผลที่ไม่อาจยื่นคำให้การภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้โดยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การไป อาจเป็นเพราะไปต่างจังหวัดพึ่งทราบ และแต่งทนายเข้ามาในคดีกระทันหัน หรือเอกสารที่โจทก์ฟ้องมีมากมายเวลาตามที่กฎหมายกำหนดอาจไม่พอ ก็ขอขยายเวลาออกไปได้อีกตามที่จำเลยขอไปต่อศาล หรือเหตุผลอะไรก็ได้ที่น่าฟังกว่านี้ แต่สุดท้ายแล้วศาลก็จะเป็นผู้ที่กำหนดตัดสินว่าจะให้ขยายออกไปกี่วัน ทั้งนี้ทั้งนั้นแล้วต้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การก่อนถึงวันครบกำหนดยื่นคำให้การตามที่กฎหมายกำหนด
                -การยื่นคำให้การคดีมโนสาเร่ ป.วิ.แพ่ง ม.๑๙๓ สามารถยื่นคำให้การในวันที่ศาลนัดตามหมายเรียกก็ได้ไม่เหมือนคดีแพ่งสามัญ คดีมโนสาเร่จำเลยสามารถยื่นคำให้การเป็นหนังสือ หรือให้การด้วยวาจาก็ได้ ศาลจะบันทึกคำให้การด้วยวาจาและเหตุแห่งการนั้นไว้
                ประเด็นข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริงในคำให้การ เช่น
ตัวอย่างประเด็นข้อกฎหมาย
                -คำฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่
                -มีอำนาจฟ้องหรือไม่
                -การบอกกล่าวทวงถามทำถูกต้องตามกฎหมายกำหนดหรือไม่ (คดีบางเรื่องกฎหมายก็ไม่ได้กำหนดไว้)
                                                ฯลฯ
ตัวอย่างประเด็นข้อเท็จจริง 
                -คดีขาดอายุความหรือไม่
                -ค่าเสียหายมีจำนวนเท่าไหร่
                -จำเลยประมาทหรือไม่
                                ฯลฯ
                ประเด็นข้อกฎหมายถ้าไม่ได้ว่ากล่าวในศาลชั้นต้นก็สามารถยกประเด็นข้อกฎหมายนั้นอุทธรณ์หรือฎีกาได้ แต่ถ้าเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงแล้วถ้าไม่ได้ว่ากล่าวในศาลชั้นต้นแล้วก็ไม่สามารถยกขึ้นอุทธรณ์หรือฎีกาได้ เพื่อความไม่ประมาทควรยกก็ควรยกทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงให้ครบตั้งแต่ศาลชั้นต้น  ประเด็นในข้อเท็จจริงนี้จะมีมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับคดีของแต่ละคดีไป ต่อไปก็เป็นตัวอย่างคำให้การ คดีแพ่ง และคดีอาญา แล้วเจอกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น