วันพุธที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เอกสารที่ประกอบในการยื่นคำฟ้องแพ่งของทนายความ การเรียงลำดับ


                การยื่นคำฟ้องแพ่งหรือฟ้องอะไรนั้นต้องไปยื่นที่ศาล แต่ถ้าเมียหรือภรรยาอันเป็นที่รักของเรายื่นฟ้องเราข้อหานอกใจภรรยา สามารถยื่นฟ้องได้เลยไม่ต้องทำเป็นหนังสือหรือมีพยานหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ แค่พยานบอกเล่าก็ฟังลงโทษได้แล้ว เพราะเมียหรือภรรยาเป็นทั้งทนายความและผู้พิพากษาในเวลาเดียวกัน   
                เรามาเริ่มกันที่การยื่นคำฟ้องกันเลย เอกสารในการยื่นคำฟ้องประกอบด้วยเอกสารดังต่อไปนี้คือ
๑ คำฟ้อง + คำขอท้ายฟ้อง (ต้นฉบับ)
๒ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลขต่าง ๆ
๓ หมายเรียกคดีแพ่งสามัญ หรือ มโนสาเร่ หรือ ไม่มีข้อยุ่งยาก
๔ ใบแต่งทนายความ
๕ ใบมอบฉันทะ (ถ้ามี)
๖ บัญชีพยาน
๗ คำแถลง (ส่งทางไปรษณีย์ หรือ โดยเจ้าพนักงานของศาล)
๘ คำร้องขอให้ส่งหมายให้จำเลย และปิดหมาย การขอให้ศาลปิดหมายนี้โจทก์ต้องขอคัดสำเนาทะเบียนบ้านของจำเลยที่คัดจากอำเภอ หรือเทศบาล หรือเขตไม่เกิน ๑ เดือน ก่อนที่โจทก์ยื่นฟ้อง เพื่อแสดงที่อยู่ของจำเลยที่แน่นอน ไม่เช่นนั้นแล้วศาลอาจไม่ปิดหมายให้ กรณีเป็นนิติบุคคลก็ขอคัดหนังสือรับรองที่พาณิชย์จังหวัด

๙ คำแถลงของดส่งสำเนาเอกสาร (ถ้ามี) กรณีมีเอกสารมากมายและโจทก์จำเลยรู้อยู่แล้ว
๑๐ สำเนาหมาย (คดีมโนสาเร่ , คดีไม่มีข้อยุ่งยาก , คดีแพ่งสามัญ) แล้วแต่กรณีของจำเลยแต่ละคน
๑๑ สำเนาที่จะเตรียมให้กับจำเลยและศาล จำเลยมีกี่คนก็ทำสำเนาเท่ากับจำนวนของจำเลย ส่วนของศาลให้คำฟ้องตัวจริง ส่วนเอกสารท้ายฟ้องต้องเป็นสำเนาทั้งหมด เพราะยื่นให้ศาลไปตอนนี้อาจหายได้ ส่วนตัวจริงนั้นก็จะยื่นส่งศาลในวันพิจารณานั้นเอง
หมายเหตุ  บางศาลได้อำนวยความสะดวกให้ทนายความไว้แล้วคำแถลงบางอย่างก็ได้มีบริการที่หน้าแผนกรับฟ้องอยู่แล้ว เช่น คำแถลงของส่งหมายทางไปรษณีย์ หรือ โดยเจ้าพนักงานศาล ถ้าศาลไหนไม่มีบริการเราก็เขียนเอง
                ที่กล่าวมาแล้วนี้อาจมองไม่เห็นภาพ ผมจะเขียนตัวอย่างว่าหน้าตามันเป็นอย่างไร ว่ากันแบบช๊อตต่อช๊อต หลุมต่อหลุม กันเลยดีกว่า แล้วเจอกัน

การยื่นคำฟ้องแพ่งและการยื่นคำให้การแพ่ง ซึ่งเป็นหัวข้อที่ ๗


                เรามาเริ่ม เรื่องการยื่นคำฟ้องคดีแพ่งกันก่อน ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินคดีต่อศาล คำฟ้องแต่ละเรื่องมีประเด็นที่สำคัญแตกต่างกันไป และพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่สำคัญ ๆ ก็แตกต่างกันไปด้วยต้องพิจารณาให้ดี รวมถึงศาลที่จะยื่นฟ้องด้วยต้องฟ้องให้ถูกศาล
        ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าเขียนคำฟ้องในคดีแพ่งนี้ได้แล้ว แล้วจะฟ้องได้ทุกคดีไป คำตอบถูกแค่ครึ่งหนึ่งครับ เพราะคำฟ้องของแต่ละคดีแต่ละศาลก็มีหลักคล้าย ๆ กัน แต่คำฟ้องแพ่งนั้นจะยากสุด ยกตัวอย่างเช่น
                คำฟ้องคดีล้มละลาย ก็มีแบบพิมพ์คำฟ้องของคดีล้มละลายต่างหาก การยื่นฟ้องก็ยื่นฟ้องต่อศาลล้มละลาย
                คำฟ้องคดีศาลแรงงาน ก็มีแบบพิมพ์คำฟ้องของศาลแรงงาน การยื่นฟ้องก็ยื่นต่อศาลแรงงานตามที่ต่าง ๆ แล้วแต่เขตอำนาจ
                คำฟ้องคดีภาษีอากร ก็มีแบบพิมพ์คำฟ้องคดีภาษีอากร มีขั้นตอนก่อนที่จะยื่นฟ้องต้องทำอย่างไร และศาลที่รับฟ้องก็เป็นศาลภาษีอากร
        และก็ยังมี ศาลปกครอง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลเยาวชนและครอบครัว ซึ่งก็มีการพิจารณารับฟ้องคดีแพ่งเหมือนกัน แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของเขา ถ้าเราเขียนคำฟ้องแพ่งได้ก็สามารถเขียนคำฟ้องในศาลอื่นที่กล่าวมาได้ แต่ต้องดูหลักเกณฑ์และวิธีการฟ้องของศาลแต่ละศาลด้วย
                การฟ้องคดีแพ่งนี้เป็นการยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมทั่ว ๆ ไป เป็นคดีสามัญที่คนส่วนมากต้องเจอและมีในชีวิตประจำวัน ไม่เหมือนคดีพิเศษที่ต้องขึ้นศาลพิเศษที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
                การฟ้องคดีนี้ก็เหมือนกับเราเล่นเทนนิสเราได้เป็นฝ่ายเสิร์ฟก่อน ถ้าลูกแรกไม่ลงคอร์ดหรือเสิร์ฟติดเน็ท เราก็ได้เสิร์ฟใหม่ลูกที่สอง เปรียบได้กับทางกฎหมายถ้าเราฟ้องไปแล้วฟ้องผิดศาล ก็นำคดีไปฟ้องที่ศาลใหม่ให้ถูกต้อง หรือฟ้องไปแล้วประเด็นไม่ครบเราก็ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องได้ เมื่อเราเสิร์ฟลูกไปแล้วลูกลงและจำเลยโต้กลับมาไม่ได้ เราก็ได้แต้ม ถ้าทางกฎหมายก็ชนะคดี แต่ถ้าจำเลยโต้กลับมาได้และลงในแดนเราแล้วเรารับไม่ได้ ก็เสียแต้ม หรือทางกฎหมายก็แพ้คดี เพราะฉะนั้นแล้วลูกเสิร์ฟในกีฬาเทนนิสสำคัญเพียงใด คำฟ้องในคดีก็สำคัญเพียงนั้น
                บางครั้งการฟ้องคดีของทนายความบางคนเป็นการฟ้องในทำนองลักไก่ ลักไก่อย่างไรมาดูกัน คดีเกือบทุกคดีคู่ความรู้อยู่แก่ใจฟังจากคนโน้นคนนี้ก็บอกว่าแพ้ตั้งแต่ยังไม่ได้ฟ้องแล้วแต่ก็อยากจะชนะทำอย่างไร ก็ให้ทนายความยื่นฟ้องคู่กรณีอีกฝ่ายต่อศาลตามสัญญาว่าอีกฝ่ายเป็นฝ่ายผิดในประเด็นข้อเท็จจริงและก็เขียนฟ้องเข้าข้างตนเอง ส่วนประเด็นที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายนั้นก็จะไม่ค่อยกล้าลักไก่เพราะกลัวศาลเพราะศาลรู้อยู่แล้ว เมื่อยื่นฟ้องไปแล้วอ้างข้อเท็จจริงต่าง ๆ นานาให้ศาลคล้อยตามว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูก ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าความจริงเป็นเช่นไร สมมุติว่าจำเลยต่อสู้คดีแล้วยืนยันความเป็นจริง จำเลยก็ชนะคดี ส่วนใหญ่แล้วคนที่ต่อสู้คดีเป็นคนที่มีเงิน แต่ถ้าเมื่อไหร่จำเลยไม่ได้ยื่นคำให้การสู้คดีก็ต้องเป็นฝ่ายแพ้คดีไป เหมือนถูกชกอยู่ฝ่ายเดียว ทั้ง ๆ ที่ตัวจำเลยเป็นฝ่ายถูกก็ตาม และถ้าเป็นตาสีตาสา ชาวไร่ชาวนา คนหาเช้ากินค่ำ คนที่ยากจน จะเอาเงินที่ไหนไปจ้างทนายความมายื่นคำให้การ ก็ต้องถูกคนที่เจ้าเล่ห์มีอำนาจทางสังคมรังแกโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ผมเชื่อนะครับว่าความยุติธรรมมีในตัวนักกฎหมายทุกคนปลุกมันตื่นขึ้นมาเถอะครับมาช่วยพวกคนเหล่านั้น
                ร่ายมายาวเลยถึงไหนแล้วเนี่ย อ้อถึงการยื่นคำฟ้อง ในการยื่นคำฟ้องแพ่งมีเอกสารอะไรบ้างเรามาไล่เรียงกันดีกว่า แต่ต้องเป็นช่วงต่อไป 

วันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

คำให้การจำเลยและฟ้องแย้ง ซึ่งเป็นหัวข้อที่ ๖


                คือการที่โจทก์ส่งคำฟ้องให้จำเลย แล้วจำเลยก็ให้การ แต่ลำเลยมีประเด็นที่อยากจะฟ้องโจทก์ในคดีที่เกี่ยวกันกับที่โจทก์ฟ้องมา จำเลยก็สามารถเขียนคำฟ้องในคำให้การนั้นได้เลยโดยแยกเป็นส่วน ๆ ไป เพื่อที่จะได้เข้าใจง่ายและเป็นระเบียบ
                การฟ้องแย้งนี้ได้บัญญัติไว้ใน ป.วิ.แพ่ง มาตรา ๑๗๗ “เมื่อได้ส่งหมายเรียกและคำฟ้องให้จำเลยแล้ว ให้จำเลยทำคำให้การเป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายในสิบห้าวัน
                ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น
                จำเลยจะฟ้องแย้งมาในคำให้การก็ได้ แต่ถ้าฟ้องแย้งนั้นเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมแล้ว ให้ศาลสั่งให้จำเลยฟ้องเป็นคดีต่างหาก
                ให้ศาลตรวจดูคำให้การนั้นแล้วสั่งให้รับไว้ หรือให้คืนไป หรือสั่งไม่รับตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๘
                บทบัญญัติแห่งมาตรานี้ ให้ใช้บังคับแก่บุคคลภายนอกที่ถูกเรียกเข้ามาเป็นผู้ร้องสอดตามมาตรา ๕๗ (๓) โดยอนุโลม”

แยกพิจารณาได้ดังนี้
                -ฟ้องแย้งของจำเลยต้องเกี่ยวกับฟ้องเดิมของโจทก์
                -ถ้าฟ้องแย้งไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมของโจทก์แล้ว ศาลจะสั่งให้จำเลยยื่นฟ้องใหม่เป็นคดีต่างหาก
                -ฟ้องแย้งจะต้องเสียค่าธรรมเนียมวางศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่ฟ้องแย้ง
                -จำเลยต้องส่งคำให้การและฟ้องแย้งต่อโจทก์ เพื่อให้โจทก์ทำคำให้การแก้ฟ้องแย้งต่อศาลภายใน ๑๕ วัน ตามมาตรา ม.๑๗๘
               
                คำให้การและฟ้องแย้งนี้เมื่อพิจาณาชื่อก็บอกได้แล้วว่าต้องมีคำให้การ + คำฟ้องนั้นเอง คำให้การและคำฟ้อง เขียนอย่างไรมีหลักเกณฑ์อย่างไรได้อธิบายแล้ว
                มาดูซิครับว่าคดีไหนบ้างที่ต้องเขียนคำให้การและฟ้องแย้ง คำตอบก็คือ มีเกือบทุกคดีครับ แต่ในทางปฏิบัติจะพบเห็นคดีแบบนี้น้อยมาก เพราะในทางปฏิบัติแล้วตัวโจทก์เองก็รู้ดีอยู่แล้วว่าถ้าฟ้องไปแล้วจำเลยจะมีข้อต่อสู้อย่างไรถ้ามีผลทำให้คดีของโจทก์แพ้เลย และแถมด้วยผลตำพิพากษาของคำฟ้องแย้งของจำเลยที่ผูกพันโจทก์อีกต่างหาก โจทก์ก็จะไม่ฟ้องในคดีนั้นมา
                กรณีที่จำเลยจะฟ้องแย้งนี้ จะเกิดขึ้น คือ โจทก์ฟ้องมาโดยโจทก์ไม่รู้ข้อเท็จจริงที่สำคัญ หรือข้อเท็จจริงของโจทก์ส่วนที่สำคัญสูญหาย หรือถูกทำลาย
                ดังตัวอย่าง เช่น จำเลยเช่าซื้อรถยนต์และส่งค่าเช่าซื้อครบทุกงวดแล้ว แต่โจทก์กลับมาฟ้องว่า จำเลยผิดสัญญาเช่าซื้อ และเรียกค่าเสียหายจากจำเลย
                ใช้แบบฟอร์มคำให้การจำเลย (๑๑ ก.) ที่หัวแบบฟอร์มที่มีคำว่า คำให้การจำเลย ให้เขียนต่อจากคำให้การจำเลย ว่า “และฟ้องแย้ง” กรอกแบบฟอร์มด้านบนและมาเริ่มที่ ข้อ ๑. กันเลย
                ข้อ ๑. ตามที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดนัดไม่ส่งค่างวดตามสัญญาเช่าซื้อ...............งวด รวมเป็นเงิน................................บาทนั้น จำเลยขอให้การปฏิเสธคำฟ้องของโจทก์กล่าวคือ จำเลยได้ชำระค่างวดตามกำหนดสัญญาทุกเดือน และชำระค่างวดครบถ้วนตามสัญญา ตามใบเสร็จรับเงินที่โจทก์ออกให้จำเลยเอกสารท้ายคำให้การและฟ้องแย้ง หมายเลข ๑
                ข้อ ๒. จำเลยขอฟ้องแย้งโจทก์ว่า เมื่อวันที่.....เดือน.............ปี.....จำเลยได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อ.....................รุ่น..................ทะเบียน..................ในราคา........................บาท โดยผ่อนชำระค่าเช่าซื้องวดละ ........................บาท มีกำหนด..............งวด รายละเอียดปรากฏตามสัญญาเช่าซื้อ ตามเอกสารท้ายฟ้องโจทก์ หมายเลข...................
                ต่อมาเมื่อจำเลยได้ชำระค่างวดครบถ้วนตามสัญญาเช่าซื้อแล้วจำเลยได้ไปติดต่อโจทก์ให้โอนชื่อในทะเบียนรถยนต์คันดังกล่าวให้จำเลย แต่จำเลยปฏิเสธ จำเลยจึงมอบหมายให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปให้โจทก์ แต่โจทก์ก็ยังเพิกเฉย รายละเอียดปรากฏตามหนังสือบอกกล่าวทวงถามและใบไปรษณีย์ตอบรับ ตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข .......และ....................
                ข้อ ๓. การกระทำของจำเลยดังกล่าวทำให้จำเลยได้รับความเสียหายกล่าวคือ จำเลยไม่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ชื่อทางทะเบียนในรถยนต์คันดังกล่าว
                ดังนั้นจึงขอศาลได้โปรดยกฟ้องโจทก์ และพิพากษาให้โจทก์ไปทำการโอนชื่อทางทะเบียนรถยนต์ ยี่ห้อ.........รุ่น................หมายเลขทะเบียน..................ให้แก่จำเลย หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตาม ขอศาลให้จำเลยถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนโจทก์ และให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนจำเลยด้วย

                                                                                ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
                                                                ลงชื่อ.......................................................จำเลย
คำให้การและฟ้องแย้งนี้ข้าพเจ้า................................................ทนายจำเลย เป็นผู้เรียงและพิมพ์
                                                                ลงชื่อ.......................................................ผู้เรียงและพิมพ์


                ขอย้ำว่านี้เป็นตัวอย่างแบบการเขียนคำให้การและฟ้องแย้ง การเขียนนั้นไม่ต้องตามแบบตัวอย่างก็ได้ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง พยานเอกสาร หรือพยานต่าง ๆ เป็นรายคดีไป แต่หัวใจสำคัญ และองค์ประกอบในการเขียนคำฟ้อง หรือคำให้การ ต้องมีในเรื่องนั้น ๆ เรียงลำดับเหตุการณ์ให้ดี อ่านแล้วให้เข้าใจได้ง่าย เพียงเท่านี้ก็สามารถเขียนได้ทุกคดีไป
                เมื่อจำเลยยื่นคำให้การและฟ้องแย้งแล้วจำเลยต้องนำส่งหมายให้กับโจทก์เพื่อที่โจทก์จะได้ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง หลักในการเขียนคำให้การแก้ฟ้องแย้งนั้นมีหลักคล้ายกับการเขียนคำให้การของจำเลย

วันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

หลักการเขียนคำให้การในแบบฟอร์มคำให้การ


                ส่วนแรกก็เป็นเลขคดี วันที่ ศาล ความแพ่ง ชื่อคู่ความ ชื่อที่อยู่จำเลย ส่วนแรกนี้ไม่มีปัญหาเท่าไหร่
                ส่วนที่สองก็จะเป็นการอ้างประเด็นในการต่อสู้เป็นประเด็นไป เพื่อระเบียบและให้ศาลอ่านได้ง่ายนั้นเอง การอ้างประเด็นในการต่อสู้นี้ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายต้องมีเหตุผลในการต่อสู้ด้วย พูดง่าย ๆ ว่าตัวจำเลยรู้อยู่แก่ใจแล้วว่าทำอะไรลงไป อย่างไร ถ้าเขาฟ้องอะไรมาไม่ตรงกับความเป็นจริงที่เราได้ทำลงไปแล้วเราก็มีประเด็นในการต่อสู้แล้ว แต่เราต่อสู้อย่างเดียวไม่ได้ต้องมีเหตุผลประกอบด้วย หรือมีพยานมาสนับสนุนนั้นเอง
                อย่างเช่น โจทก์ฟ้องมาในประเด็นที่ว่า จำเลยไม่เคยชำระดอกเบี้ยเลยนับตั้งแต่วันทำสัญญากู้ยืมเงินเป็นเงินจำนวน.................................บาท เราก็เขียนในคำให้การว่า
                ข้อ ๑. จำเลยไม่เคยค้างชำระดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามที่โจทก์ฟ้องมา เมื่อจำเลยได้ชำระดอกเบี้ยทุกเดือนแล้วก็ได้รับใบเสร็จรับเงินมาด้วยทุกครั้ง ซึ่งรายละเอียดปรากฏตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข.....        (ถ้าจำเลยมีประเด็นในการต่อสู้อีกก็ขึ้นข้อต่อ ไปเรื่อย ๆ จนว่าจะหมดประเด็น เพื่อเป็นระเบียบและทำให้ศาลอ่านแล้วเข้าใจได้ง่าย)
                การเขียนคำให้การแต่ละคดีนั้นขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไปว่าให้เราต้องเขียนอย่างไรให้เหตุผลอย่างไร แต่หลักเกณฑ์นั้นต้องมีอยู่ก็คือจำเลยอ้างประเด็นไหนขึ้นมาก็ต้องมีเหตุผลด้วยนั้นเอง
                ส่วนที่สาม คือย่อหน้าที่เขียนไปแล้วเพื่อให้ศาลเห็นใจและคำลงท้ายในคำให้การนั้นเองเอง (ในทางปฏิบัติศาลจะเห็นใจหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) เขียนในทำนองที่ว่า
                ด้วยเหตุผลข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามที่จำเลยได้ประประทานกราบเรียนต่อศาลที่เคารพข้างต้น ขอศาลที่เคารพได้โปรดพิจารณาพิพากษายกฟ้องโจทก์ และให้โจทก์ชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนจำเลยด้วย
                                                                                                ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
                                                                ลงชื่อ..............................................................จำเลย
คำให้การฉบับนี้ข้าพเจ้านายหรือนาง......................................ทนายจำเลย เป็นผู้เรียงและพิมพ์
                                                                ลงชื่อ............................................................ผู้เรียงและพิมพ์

ตัวอย่างคำให้การแพ่งที่ไม่มีเหตุผลของการปฏิเสธหรือคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง และตัวอย่างคำให้การในคดีอาญา


ตัวอย่างคำให้การแพ่งที่ไม่มีเหตุผลในการปฏิเสธ หรือคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง    
                -โจทก์จะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ จำเลยไม่ทราบและไม่รับรอง
                -หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีปลอม ผู้รับมอบอำนาจไม่มีอำนาจดำเนินคดีนี้แทนโจทก์
                -โจทก์กับบุคคลอื่นร่วมกันฉ้อฉลจำเลยโดยไม่ได้บรรยายว่าฉ้อฉลอย่างไร
                -จำเลยไม่เคยกู้ยืมเงินโจทก์ โจทก์ โดยไม่บอกเหตุผล
                -จำเลยไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันนาย......................ไว้กับโจทก์
                -เช็คของจำเลยจะไปอยู่ในความครอบครองของโจทก์ได้อย่างไรนั้นจำเลยไม่ทราบ
                -โจทก์คิดดอกเบี้ยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจากจำเลย
                -โจทก์เสียหายอย่างไรนั้น จำเลยไม่ทราบ และไม่รับรอง
                -โจทก์ที่ ๑ จะเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย และโจทก์ที่ ๒ จะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายหรือไม่นั้น จำเลยไม่ทราบและไม่รับรอง
                -หนี้เงินกู้ตามฟ้องนั้นไม่สมบูรณ์ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดโดยไม่บรรยายว่าไม่สมบูรณ์อย่างไร
                -จำเลยให้การว่าโจทก์ใช้ฉ้อฉลให้จำเลยสำคัญผิดในข้อเท็จจรองโดยไม่บรรยายถึงเหตุแห่งการฉ้อฉลโดยชัดแจ้งตาม ป.วิ.แพ่ง ม.๑๗๗ ว.สอง จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทข้อนี้
                -ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โดยไม่บรรยายให้ชัดแจ้งว่าเคลือบคลุมส่วนใดและอย่างไร
                -ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ โดยไม่บรรยายให้ชัดแจ้งว่า ฟ้องโจทก์ข้อหาใดขาดอายุความอย่างไร

ตัวอย่างคำให้การที่มีลักษณะต่อสู้สองทาง และคำให้การที่ขัดแย้งกัน
คำให้การที่มีลักษณะต่อสู้สองทาง
                -จำเลยไม่เคยยืมเงินจากโจทก์ หากเคยยืมก็ชำระหนี้ให้ครบถ้วนแล้ว
                -ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ................... ที่จำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์อยู่ หากเป็นที่ดินของโจทก์จริงจำเลยก็ได้ครอบครองมาด้วยความสงบ เปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาเป็นเวลากว่า ๑๐ ปีแล้ว จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์
คำให้การที่ขัดแย้งกัน
                -จำเลยที่ ๒ ไม่ได้ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ ๑ ไว้แก่โจทก์ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ หรือหากต้องรับผิดก็ไม่เกิน..........................บาท ตาที่ทำสัญญาไว้
                -จำเลยให้การตอนแรกว่าไม่เคยทำสัญญาเช่ากับโจทก์และไม่ทราบว่าโจทก์วางมัดจำไว้ แต่ตอนหลังกลับให้การว่าไม่ต้องคืนเงินมัดจำให้โจทก์เพราะเป็นค่าเสียหายที่โจทก์ก่อขึ้นแก่ห้องเช่าทีส่งมอบคืน ดังนี้เป็นคำให้การที่ขัดแย้งกันโดยไม่แจ้งชัดว่าจำเลยให้โจทก์เช่าห้องและรับเงินมัดจำไว้หรือไม่
                -จำเลยไม่ได้ขับรถโดยประมาทเลินเล่อชนรถโจทก์ เหตุละเมิดเกิดจากโจทก์เป็นฝ่ายขับรถโดยประมาทเลินเล่อเอง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ หากจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์จริงก็รับผิดไม่เกินจำนวน........................บาท
                -จำเลยให้การว่าเช็คพิพาทปราศจากมูลหนี้ จำเลยมิได้เป็นหนี้โจทก์และหากจำเลยเคยเป็นหนี้ก็ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์เรียบร้อยแล้ว
                -จำเลยไม่เคยซื้อสินค้าจากโจทก์ หากซื้อจริงฟ้องโจทก์ก็ขาดอายุความแล้ว

ตัวอย่างคำให้การจำเลย คดีอาญา (ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา)
                ข้อ ๑. จำเลยขอให้การปฏิเสธคำฟ้องของโจทก์ทุกประการ รายละเอียดนั้นจำเลยจะได้นำเสนอศาลศาลในชั้นพิจารณาต่อไป   (หรือ)
                (ข้อ ๑. จำเลยขอให้การปฏิเสธคำฟ้องของโจทก์ และขอต่อสู้คดี)
                                                                                                ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
                                                                ลงชื่อ........................................................จำเลย
คำให้การฉบับนี้ข้าพเจ้า นายหรือนาง.......................................จำเลย เป็นผู้เรียงและพิมพ์/เขียน
                                                                ลงชื่อ........................................................ผู้เรียง/เขียน

ตัวอย่างคำให้การ รับสารภาพในคดีอาญา (ทุกข้อกล่าวหาตามฟ้องของโจทก์)
                ข้อ ๑. จำเลยขอให้การ รับสารภาพ ตามคำฟ้องของโจทก์ทุกข้อกล่าวหา ขอศาลได้โปรดลงโทษจำเลยสถานเบา
                (หรือ ข้อ ๑.จำเลยขอให้การรับสารภาพตามฟ้องของโจทก์ทั้งสิ้น)

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
                                                                ลงชื่อ........................................................จำเลย
คำให้การฉบับนี้ข้าพเจ้า นายหรือนาง.......................................จำเลย เป็นผู้เรียงและพิมพ์/เขียน
                                                                ลงชื่อ........................................................ผู้เรียง/เขียน

ตัวอย่างคำให้การ รับสารภาพบางข้อหา และปฏิเสธบางข้อหาในคดีอาญา (เรื่อง ลักทรัพย์ รับของโจร)
                ข้อ ๑. จำเลยขอให้การรับสารในข้อหาความผิดฐานรับของโจร ส่วนขอหาความผิดฐานลักทรัพย์ขอให้การปฏิเสธ
                ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
                                                                ลงชื่อ........................................................จำเลย
คำให้การฉบับนี้ข้าพเจ้า นายหรือนาง.......................................จำเลย เป็นผู้เรียงและพิมพ์/เขียน
                                                                ลงชื่อ........................................................ผู้เรียง/เขียน