วันพุธที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

หลักการเขียนคำฟ้องแพ่ง ซึ่งเป็นหัวข้อที่ ๔


               ความหมายของคำฟ้องอยู่ใน ป.วิ.แพ่ง มาตรา ๑ (๓) “คำฟ้อง” หมายความว่า กระบวนพิจารณาใด ๆ ที่โจทก์ได้เสนอข้อหาต่อศาล ไม่ว่าจะได้เสนอด้วยวาจาหรือทำเป็นหนังสือไม่ว่าจะได้เสนอต่อศาลชั้นต้น หรือชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา ไม่ว่าจะได้เสนอในขณะที่เริ่มคดีโดยคำฟ้อง หรือคำร้องขอ หรือเสนอในภายหลังโดยคำฟ้องเพิ่มเติม หรือแก้ไข หรือฟ้องแย้งหรือโดยสอดเข้ามาในคดีไม่ว่าด้วยสมัครใจหรือถูกบังคับ หรือโดยมีคำขอให้พิจารณาใหม่
                ตามมาตรา ๑ (๓) เอกสารต่อไปนี้ถือเป็นคำฟ้อง
                อุทธรณ์ ถือ เป็นคำฟ้อง
                ฎีกา ถือ เป็นคำฟ้อง
                คำร้องขอ ถือ เป็นคำฟ้อง
                คำร้องขอเพิ่มเติม หรือ แก้ไขคำฟ้อง ถือ เป็นคำฟ้อง
                คำให้การและฟ้องแย้ง ฟ้องแย้ง ถือ เป็นคำฟ้อง
                คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ ถือ เป็นคำฟ้อง
                ตามมาตรา ๑๗๒ วรรคสอง บัญญัติว่า คำฟ้องต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น
        ตามมาตรา ๖๗ บัญญัติว่า เมื่อประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นบัญญัติว่าเอกสารใดจะต้องส่งให้แก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง (เช่น คำคู่ความที่ทำโดยคำฟ้อง คำให้การ หรือคำร้อง หรือคำขอโดยทำเป็นคำร้อง หมายเรียกหรือหมายอื่น ๆ สำเนาคำแถลงการณ์ หรือสำเนาพยานเอกสาร ฯลฯ) เอกสารนั้นต้องทำขึ้นให้ปรากฏข้อความแน่ชัดถึงตัวบุคคลและมีรายการต่อไปนี้
(๑)  ชื่อศาลที่จะรับคำฟ้อง หรือถ้าคดีอยู่ในระหว่างพิจารณา ชื่อของศาลนั้นและเลขหมายคดี
(๒)  ซื่อคู่ความในคดี
(๓)  ชื่อคู่ความหรือบุคคล ซึ่งจะเป็นผู้รับคำคู่ความหรือเอกสารนั้น
(๔)  ใจความ และเหตุผลถ้าจำเป็นแห่งคำคู่ความหรือเอกสาร
() วัน เดือน ปี  ของคำคู่ความ หรือ เอกสาร และลายมือชื่อของเจ้าพนักงาน คู่ความ หรือบุคคลซึ่งเป็นผู้ยื่นหรือเป็นผู้ส่ง
ในการยื่นหรือส่งคำคู่ความ หรือเอกสารอื่นใดอันจะต้องทำตามแบบพิมพ์ที่จัดไว้ เจ้าพนักงาน คู่ความ หรือบุคคลผู้เกี่ยวข้อง จะต้องใช้กระดาษแบบพิมพ์นั้น ส่วนราคากระดาษแบบพิมพ์นั้นให้เรียกตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจะได้กำหนดไว้
จากมาตรา ๖๗ แยกพิจารณาได้ว่า
ชื่อศาลที่จะรับคำฟ้อง และเลขหมายคดี ชื่อศาลในประเทศไทยมีมากมายหลายชื่อ ต้องดูให้ดีว่าคดีแต่ละคดีฟ้องที่ศาลใหนตามข้อเท็จจริงของแต่ละคดีไป ถ้าฟ้องผิดศาล ศาลจะยกฟ้องให้ไปฟ้องศาลที่ถูกต้อง ทำให้เสียเวลา และถ้าคดีที่กำลังจะขาดอายุความด้วยแล้วละก็ ยุ่งแน่ ๆ ส่วนเลขหมายคดีนั้นจะได้ตอนยื่นฟ้องต่อศาล ศาลจะปั้มหมายเลขคดีที่ฟ้องให้ว่าได้หมายเลขอะไร จะเป็นหมายเลขคดีดำนั้นเอง ส่วนถ้าศาลมีคำพิพากษาแล้วจะเป็นหมายเลขคดีแดง ก่อนยื่นฟ้องนั้นต้องทำสำเนาคำฟ้องไว้หลายชุดให้พอดีกับคู่ความเอง ส่วนศาลนั้นจะได้คำฟ้องตัวจริงไป อย่าลืมว่าเราต้องเก็บสำเนาคำฟ้องไว้ในสำนวนด้วย ส่วนเอกสารท้ายฟ้องนั้นเราจะส่งส่งสำเนาให้ศาลไปพร้อมกับคำฟ้องตัวจริง เวลาสืบพยานค่อยยื่นให้ศาลดู ถ้าเอาตัวจริงยื่นไปตอนยื่นฟ้องอาจหายได้
ชื่อคู่ความในคดี ทั้งโจทก์และจำเลยถ้าเป็นบุคคลธรรมดาด้วยกันไม่ค่อยปวดหัวเท่าใหร่ แต่มีทั้ง กระทรวง ทบวง กรม บริษัท ห้างหุ้นส่วน ผู้แทนต่าง ๆ ในคดี ชื่อคู่ความนี้สำคัญมากถ้าฟ้องผิดตัวยุ่งอีกเหมือนกันเพราะทั้งบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลนี้มีชื่อที่ดูเหมือนกันมาก ทางที่ดีเราไปขอคัดถ่ายสำเนาชื่อต่าง ๆ ให้เจ้าหน้าที่รับรองความถูกต้องเพื่อให้แน่ใจว่าไม่ผิดตัว กรณีบุคคลธรรมดาก็ไปขอคัดถ่ายสำเนาทะเบียนราษฎร์ที่อำเภอ เขต หรือ เทศบาล ต้องดูดี ๆ นะครับชื่อซ้ำกัน นามสกุลซ้ำกันก็มี บางคนก็เปลี่ยนชื่อ เมื่อออนไลน์แล้วหาไม่เจอ ยุ่งอีก ทางที่ดีถ้ามีหมายเลข ๑๓ หลักของบัตรประชาชนด้วยยิ่งดีเพราะหาตัวง่ายแม้จะเปลี่ยนชื่อกี่ชื่อก็ตาม ส่วนนิติบุคคลก็ขอถ่ายหนังสือรับรองการก่อตั้งนิติบุคคลเหล่านั้นที่สำนักงานทะเบียนพาณิชย์ของแต่ละจังหวัดในเขตศาลที่ยื่นฟ้องนั้นเอง ดูแล้วปวดหัวต้องขอแยกให้ดูจึงจะเห็นภาพ
กรณีบุคคลธรรมดาด้วยกัน ไม่ต้องเขียนในบรรยายลงไปในหัวข้อแรก เพราะมีเขียนบรรยายอยู่ในแบบฟอร์มคำฟ้องอยู่แล้ว
กรณีโจทก์เป็นบุคคลธรรมดา ส่วนจำเลยเป็นนิติบุคคล เขียนบรรยายว่า ข้อ ๑. จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภท....................จำกัด จดทะเบียน ณ สำนักงานทะเบียน................ รายละเอียดปรากฎตามภาพถ่ายหนังสือรับรอง เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข...............
กรณีโจทก์เป็นนิติบุคคล และจำเลยก็เป็นนิติบุคคลด้วย  เขียนว่า ข้อ ๑. โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภท.........................จำกัด ณ สำนักงานทะเบียน....................... มีนางหรือนาย..................... เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัท กระทำการใด ๆ รวมทั้งการดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ได้ รายละเอียดปรากฏตามสำเนาหนังสือรับรอง.......................เอกสารท้ายฟ้อง หมายเลข ๑
ในการยื่นฟ้องและดำเนินคดีนี้ โจทก์ได้มอบอำนาจให้นายหรือนาง........................................เป็นผู้ดำเนินการแทน รายละเอียดปรากฏตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายฟ้อง หมายเลข ๒
ข้อ ๒. จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภท......................จำกัด จดทะเบียน ณ สำนักงานทะเบียน.................. รายละเอียดปรากฏตามภาพถ่ายหนังสือรับรองท้ายฟ้อง หมายเลข ๓
กรณีกระทำการแทนบุคคลอื่น   เช่น โจทก์เป็นเด็กชายหรือเด็กหญิง หรือเป็นนิติบุคคลประเภท ....................................โดยมีนายหรือนาง................................................... เป็นผู้แทนโดยชอบธรรม (หรือผู้รับมอบอำนาจ หรือ ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ หรือเป็นกรรมการผู้จัดการ รายละเอียดปรากฏตาม สำเนาหนังสือ........................ เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข.................
กรณีกระทำแทน กระทรวง ทบวง กรม นิติบุคคลของทางราชการ  เช่น โจทก์เป็นกรุงเทพมหานคร โดยมีนายหรือนาง..............................เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ โจทก์เป็นองค์การบริหารส่วนตำบล หรือส่วนจังหวัด โดยมีนายหรือนาง............................................เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหรือส่วนจังหวัด หรือวัดวาอารามต่าง ๆ เช่น โจทก์คือวัด..........................โดยมีพระ............................เป็นเจ้าอาวาส กรณีโจทก์หรือจำเลยมีฐานะเป็นกรม เช่น กรมทางหลวง ก็เขียนชื่อกรมทางหลวง ไปได้เลยเป็นอันเข้าใจแล้ว ส่วนหัวข้อด้านล่าง ก็เขียนไปว่า โจทก์หรือจำเลยเป็นกรมในรัฐบาลมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายและเป็นเจ้าของเป็นผู้ครอบครองและควบคุมดูแล .......................................................
ลักษณะการเขียนเป็นจำเลยของกระทรวง ทบวง กรม ก็มีลักษณะคล้าย ๆ กันกับเป็นโจทก์แต่เปลี่ยนชื่อเป็นจำเลย
ชื่อคู่ความที่จะรับคำคู่ความในคดี  ในแบบพิมพ์คำฟ้องก็มีระบุชื่อ ที่อยู่ของคู่ความไว้แล้ว การส่งคำคู่ความหรือเอกสารใดก็ส่งไปตามที่อยู่ที่เขียนไว้ในแบบฟอร์มคำฟ้องนั้น
                วัน เดือน ปี ของคำคู่ความ หรือคำฟ้อง  ต้องถือวันที่ไปยื่นคำฟ้อง คำร้อง คำขอ คำแถลง และศาลได้รับเอกสารนั้นไว้แล้ว ในทางปฏิบัติศาลจะประทับตราศาลนั้นแล้วลงวันที่กำกับไว้อยู่บนหัวกระดาษเอกสารนั้น ก็ถือตาม วัน เดือน ปี นั้น
ลายมือชื่อของเจ้าพนักงาน คู่ความ หรือบุคคลซึ่งเป็นผู้ยื่นหรือเป็นผู้ส่ง
ในคดีแพ่งโจทก์เองลงลายมือชื่อในคำฟ้องได้อยู่แล้ว
ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ก็ลงลายมือชื่อแทนโจทก์ได้เหมือนกัน
โจทก์แต่งตั้งทนายความเข้ามาในคดีทนายความโจทก์ก็ลงลายมือชื่อในคำฟ้องแทนโจทก์ได้เหมือนกัน
นอกจากนี้แล้วในคำฟ้องจะประกอบไปด้วยลายเซ็นผู้พิพากษาเพื่อสั่งให้ให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามให้เป็นไปตามคำสั่งนั้นเช่น สั่งเจ้าหน้าที่นำหมายส่งให้จำเลยถ้าไม่พบจำเลยก็สั่งให้ปิดหมาย ซึ่งก็มาจากคำขอของโจทก์ที่โจทก์ได้แถลงไว้ในคำแถลงแนบไปพร้อมกับคำฟ้องนั้นเอง

เมื่อพิจารณาทั้งสองมาตราดังกล่าวในการเขียนฟ้องพอจะสรุป หลักในการเขียนฟ้องได้ดังนี้
๑.     ฐานะโจทก์
๒.     ฐานะจำเลย
๓.     โต้แย้งสิทธิ
๔.     เสียหายอย่างไร
๕.     คำขอ
ฐานะโจทก์ และฐานะจำเลย ก็ได้อธิบายมาแล้วดังตัวอย่างข้างบนนี้ ส่วนการโต้แย้งสิทธิ ก็เป็นไปตามมาตรา ๕๕ แห่ง ป.วิ.แพ่ง ส่วนเสียหายอย่างไรก็เป็นไปตามข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไป และพยานหลักฐานต่าง ๆ ว่ามีความเสียหายเท่าไหร่ สุดท้ายคำขอ ต้องการให้ศาลมีคำสั่งให้อย่างไร ตามที่โจทก์ขอในคำฟ้องหรือน้อยกว่าที่โจทก์ขอก็ได้ แต่ศาลจะไม่พิพากษาหรือมีคำสั่งเกินคำขอของโจทก์
ทั้งหมดนี้ก็เป็นหัวใจสำคัญที่ต้องมีอยู่ในคำฟ้องทุกคำฟ้องไปถ้าไม่เช่นนั้นแล้วคำฟ้องนั้นอาจเป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุม ต่อไปก็จะเป็นจะเป็นตัวอย่างคำฟ้องแพ่ง แล้วเจอกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น