วันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

คำให้การจำเลยและฟ้องแย้ง ซึ่งเป็นหัวข้อที่ ๖


                คือการที่โจทก์ส่งคำฟ้องให้จำเลย แล้วจำเลยก็ให้การ แต่ลำเลยมีประเด็นที่อยากจะฟ้องโจทก์ในคดีที่เกี่ยวกันกับที่โจทก์ฟ้องมา จำเลยก็สามารถเขียนคำฟ้องในคำให้การนั้นได้เลยโดยแยกเป็นส่วน ๆ ไป เพื่อที่จะได้เข้าใจง่ายและเป็นระเบียบ
                การฟ้องแย้งนี้ได้บัญญัติไว้ใน ป.วิ.แพ่ง มาตรา ๑๗๗ “เมื่อได้ส่งหมายเรียกและคำฟ้องให้จำเลยแล้ว ให้จำเลยทำคำให้การเป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายในสิบห้าวัน
                ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น
                จำเลยจะฟ้องแย้งมาในคำให้การก็ได้ แต่ถ้าฟ้องแย้งนั้นเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมแล้ว ให้ศาลสั่งให้จำเลยฟ้องเป็นคดีต่างหาก
                ให้ศาลตรวจดูคำให้การนั้นแล้วสั่งให้รับไว้ หรือให้คืนไป หรือสั่งไม่รับตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๘
                บทบัญญัติแห่งมาตรานี้ ให้ใช้บังคับแก่บุคคลภายนอกที่ถูกเรียกเข้ามาเป็นผู้ร้องสอดตามมาตรา ๕๗ (๓) โดยอนุโลม”

แยกพิจารณาได้ดังนี้
                -ฟ้องแย้งของจำเลยต้องเกี่ยวกับฟ้องเดิมของโจทก์
                -ถ้าฟ้องแย้งไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมของโจทก์แล้ว ศาลจะสั่งให้จำเลยยื่นฟ้องใหม่เป็นคดีต่างหาก
                -ฟ้องแย้งจะต้องเสียค่าธรรมเนียมวางศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่ฟ้องแย้ง
                -จำเลยต้องส่งคำให้การและฟ้องแย้งต่อโจทก์ เพื่อให้โจทก์ทำคำให้การแก้ฟ้องแย้งต่อศาลภายใน ๑๕ วัน ตามมาตรา ม.๑๗๘
               
                คำให้การและฟ้องแย้งนี้เมื่อพิจาณาชื่อก็บอกได้แล้วว่าต้องมีคำให้การ + คำฟ้องนั้นเอง คำให้การและคำฟ้อง เขียนอย่างไรมีหลักเกณฑ์อย่างไรได้อธิบายแล้ว
                มาดูซิครับว่าคดีไหนบ้างที่ต้องเขียนคำให้การและฟ้องแย้ง คำตอบก็คือ มีเกือบทุกคดีครับ แต่ในทางปฏิบัติจะพบเห็นคดีแบบนี้น้อยมาก เพราะในทางปฏิบัติแล้วตัวโจทก์เองก็รู้ดีอยู่แล้วว่าถ้าฟ้องไปแล้วจำเลยจะมีข้อต่อสู้อย่างไรถ้ามีผลทำให้คดีของโจทก์แพ้เลย และแถมด้วยผลตำพิพากษาของคำฟ้องแย้งของจำเลยที่ผูกพันโจทก์อีกต่างหาก โจทก์ก็จะไม่ฟ้องในคดีนั้นมา
                กรณีที่จำเลยจะฟ้องแย้งนี้ จะเกิดขึ้น คือ โจทก์ฟ้องมาโดยโจทก์ไม่รู้ข้อเท็จจริงที่สำคัญ หรือข้อเท็จจริงของโจทก์ส่วนที่สำคัญสูญหาย หรือถูกทำลาย
                ดังตัวอย่าง เช่น จำเลยเช่าซื้อรถยนต์และส่งค่าเช่าซื้อครบทุกงวดแล้ว แต่โจทก์กลับมาฟ้องว่า จำเลยผิดสัญญาเช่าซื้อ และเรียกค่าเสียหายจากจำเลย
                ใช้แบบฟอร์มคำให้การจำเลย (๑๑ ก.) ที่หัวแบบฟอร์มที่มีคำว่า คำให้การจำเลย ให้เขียนต่อจากคำให้การจำเลย ว่า “และฟ้องแย้ง” กรอกแบบฟอร์มด้านบนและมาเริ่มที่ ข้อ ๑. กันเลย
                ข้อ ๑. ตามที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดนัดไม่ส่งค่างวดตามสัญญาเช่าซื้อ...............งวด รวมเป็นเงิน................................บาทนั้น จำเลยขอให้การปฏิเสธคำฟ้องของโจทก์กล่าวคือ จำเลยได้ชำระค่างวดตามกำหนดสัญญาทุกเดือน และชำระค่างวดครบถ้วนตามสัญญา ตามใบเสร็จรับเงินที่โจทก์ออกให้จำเลยเอกสารท้ายคำให้การและฟ้องแย้ง หมายเลข ๑
                ข้อ ๒. จำเลยขอฟ้องแย้งโจทก์ว่า เมื่อวันที่.....เดือน.............ปี.....จำเลยได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อ.....................รุ่น..................ทะเบียน..................ในราคา........................บาท โดยผ่อนชำระค่าเช่าซื้องวดละ ........................บาท มีกำหนด..............งวด รายละเอียดปรากฏตามสัญญาเช่าซื้อ ตามเอกสารท้ายฟ้องโจทก์ หมายเลข...................
                ต่อมาเมื่อจำเลยได้ชำระค่างวดครบถ้วนตามสัญญาเช่าซื้อแล้วจำเลยได้ไปติดต่อโจทก์ให้โอนชื่อในทะเบียนรถยนต์คันดังกล่าวให้จำเลย แต่จำเลยปฏิเสธ จำเลยจึงมอบหมายให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปให้โจทก์ แต่โจทก์ก็ยังเพิกเฉย รายละเอียดปรากฏตามหนังสือบอกกล่าวทวงถามและใบไปรษณีย์ตอบรับ ตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข .......และ....................
                ข้อ ๓. การกระทำของจำเลยดังกล่าวทำให้จำเลยได้รับความเสียหายกล่าวคือ จำเลยไม่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ชื่อทางทะเบียนในรถยนต์คันดังกล่าว
                ดังนั้นจึงขอศาลได้โปรดยกฟ้องโจทก์ และพิพากษาให้โจทก์ไปทำการโอนชื่อทางทะเบียนรถยนต์ ยี่ห้อ.........รุ่น................หมายเลขทะเบียน..................ให้แก่จำเลย หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตาม ขอศาลให้จำเลยถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนโจทก์ และให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนจำเลยด้วย

                                                                                ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
                                                                ลงชื่อ.......................................................จำเลย
คำให้การและฟ้องแย้งนี้ข้าพเจ้า................................................ทนายจำเลย เป็นผู้เรียงและพิมพ์
                                                                ลงชื่อ.......................................................ผู้เรียงและพิมพ์


                ขอย้ำว่านี้เป็นตัวอย่างแบบการเขียนคำให้การและฟ้องแย้ง การเขียนนั้นไม่ต้องตามแบบตัวอย่างก็ได้ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง พยานเอกสาร หรือพยานต่าง ๆ เป็นรายคดีไป แต่หัวใจสำคัญ และองค์ประกอบในการเขียนคำฟ้อง หรือคำให้การ ต้องมีในเรื่องนั้น ๆ เรียงลำดับเหตุการณ์ให้ดี อ่านแล้วให้เข้าใจได้ง่าย เพียงเท่านี้ก็สามารถเขียนได้ทุกคดีไป
                เมื่อจำเลยยื่นคำให้การและฟ้องแย้งแล้วจำเลยต้องนำส่งหมายให้กับโจทก์เพื่อที่โจทก์จะได้ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง หลักในการเขียนคำให้การแก้ฟ้องแย้งนั้นมีหลักคล้ายกับการเขียนคำให้การของจำเลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น